หน้าเว็บ

Knowledge


ทำความรู้จักผ้าไหมไทย

        ผ้าไหมไทย หรือ Thai Silk เป็นที่รู้จัก และมีชื่อเสียงเป็นเสมือนสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศไทย  ด้วยเหตุผลที่ความสวยงาม ความอ่อนนุ่มสบาย และมีความเลื่อมเงางามโดยธรรมชาติ  เมื่อสวมใส่ดูหรูหราภูมิฐาน  นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษที่   “เมื่ออากาศร้อน ผ้าไหมช่วยคลายให้เย็นได้  ส่วนเวลาอากาศหนาว  ผ้าไหมบางๆ กลับช่วยให้อุ่นสบาย” 
 เพราะ ผ้าไหมถักทอขึ้นจากเส้นใยไหมที่มีขนาดเล็กละเอียด เป็นเส้นใยชนิดเส้นใยยาว จึงทอเป็นผ้าได้ที่สวยงาม เนื้อผ้าอ่อนนุ่ม ดูบอบบาง ขณะเดียวกันด้วยความเหนียวทนทานของเส้นใยไหม จึงทำให้สามารถใช้ผ้าไหมสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ดี  การดูแลที่เหมาะสมจะทำให้ผ้าไหมหรือผลิตภัณฑ์ผ้าไหมคงความสวยงามและคงคุณสมบัติดีเด่นได้ยาวนาน  เพราะ เส้นไหมเป็นเส้นใยโปรตีนธรรมชาติ จึงถูกทำลายได้ด้วยรังสียูวีที่มีอยู่ในแสงแดด  ในสภาพที่เป็นด่างมากๆ และอุณหภูมิสูงจะทำให้เส้นไหมเปื่อยและลดความแวววาวของเส้นไหมได้ด้วย   ดังนั้นการเข้าใจธรรมชาติของไหม จะทำให้ เราสามารถหลีกเลี่ยงการทำลายเส้นไหมผ้าไหมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้
ที่มา : ชวนพิศ สีมาขจร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ  กรมหม่อนไหม

1. การซักผ้าไหม

    นับแต่โบราณมา  ผู้สวมใส่ผ้าไหมไทยส่วนใหญ่นุ่งซิ่น ห่มผ้า บ้างพาดบ่า ใช้ผ้าไหมทั้งในชีวิต ประจำวันและในพิธีการ มีภูมิปัญญาการดูแลทำความสะอาดผ้าไหมไทยที่สืบต่อมา  จนปัจจุบันก็ยังคงมีการใช้ภูมิปัญญาดังกล่าวในบางท้องถิ่น คือ การซักผ้าไหมด้วยน้ำมะพร้าว และลบรอยเปื้อนโดยใช้หัวหอมถูที่รอยเปื้อนก่อนนำไปซัก  แม้ในปัจจุบันมีการนำผ้าไหมมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายสมัยใหม่   ชุดผ้าไหมก็ยังคงสามารถดูแลทำความสะอาดได้ด้วยตนเอง เมื่อซื้อผ้าไหมมาใหม่ๆ ก่อนนำมาตัดเย็บ  แนะนำให้ ทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่น เพื่อชะล้างฝุ่นละออง และ ไล่สีย้อมที่ตกค้างอยู่ โดย กดผ้าไหมให้จมน้ำและซักเบาๆ ในน้ำอุ่น หรือ น้ำสะอาดผสมเกลือ  ผ้าไหมจากบางร้านมีการซักและตกแต่งสำเร็จ หรือที่เราบางคน เรียกว่า อาบน้ำยา มาเรียบร้อยแล้ว  จึงไม่จำเป็นต้องซักทำความสะอาดก่อน  ใช้ตัดเย็บได้เลย โดยทั่วไป  มักนิยมซักแห้งชุดผ้าไหม ตามป้ายระบุ ”dry clean only”   แต่หากต้องการหลีกเลี่ยงสารซักแห้ง สามารถซักรีดเองได้ ทั้งซักด้วยมือ และซักด้วยเครื่อง   การเข้าใจธรรมชาติของผ้าไหม จะทำให้หลีกเลี่ยงข้อควรระวัง และทำความสะอาดผ้าไหมได้ดี ซักรีดผ้าไหม ควรสนใจ อะไร
       1.1  น้ำยาซักผ้า  
              สบู่อาบน้ำเด็ก ไม่ว่าสบู่เหลว หรือสบู่ก้อนเหมาะสมที่สุดสำหรับใช้ซักผ้าไหม   แชมพู หรือน้ำยาเอนกประสงค์ชนิดที่มีฤทธิ์เป็นกลาง หรือเป็นกรดอ่อนๆ ใช้ซักผ้าไหมได้ดีเช่นกัน
       1.2 ไม่ควรใช้ ผงซักฟอก   และ ห้ามใช้ น้ำยาฟอกขาว  
              ปัจจุบันผงซักฟอกเกือบทุกชนิดมีฤทธิ์ขจัดคราบสกปรกสูง  และเป็นด่างมาก  จะทำลายเส้นไหม  เช่นเดียวกับ การล้างคราบสกปรกติดแน่นซึ่งปกติอาจใช้น้ำยาฟอกขาว  แต่สำหรับผ้าไหมแล้ว ห้ามใช้น้ำยาฟอกขาวไม่ว่าจะต้องการล้างคราบสกปรกมากเท่าใดก็ตาม  เพราะน้ำยาฟอกขาวจะทำให้ความเงางามของผ้าไหมลดลง  ผ้าไหมกระด้าง และเส้นไหมเปื่อย 
เช่นเดียวกับการซักผ้าทั่วไป ที่ควรแยกผ้าสีเข้มและสีอ่อนหรือสีขาวซักคนละครั้ง  และก่อนนำผ้าลงซักทุกครั้งต้องแน่ใจว่า น้ำยาซักผ้าละลายน้ำดีทั่วแล้ว   นอกจากนี้ การซักน้ำต้องให้สะอาด ไม่ให้มีสบู่ น้ำยาซักผ้าหรือผงซักฟอกตกค้าง เพราะจะทำให้เกิดสีเหลืองหม่นบนผ้าได้   สำหรับผ้าไหมมีข้อควรระวังเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ได้แก่  ไม่ใช้น้ำร้อนหรือน้ำอุ่นจัดในการซักผ้าไหม เพราะมีผลทำให้เส้นไหมหดตัว และเกิดรอยย่นได้   ไม่แช่ผ้าไหมทิ้งไว้ในน้ำยาซักผ้านานๆ  ห้ามใช้แปรงขัดถูผ้าไหม และไม่บิดผ้าเป็นเกลียว แต่ใช้วิธีค่อยๆ บีบไล่น้ำออกแทน   ควรรีบซักล้างโดยขยี้เบาๆ และบีบน้ำออก เมื่อซักเสร็จแล้วนำขึ้นผึ่งให้แห้ง จะช่วยรักษาคุณสมบัติที่ดีของไหม ได้แก่ สีสัน ความอ่อนนุ่มเงางามและความคงตัวของเนื้อผ้า
        1.3 การกำจัดรอยเปื้อนบนผ้าไหมก่อนซัก               ก่อนจะลบรอยเปื้อนใดๆ ให้ทดสอบน้ำยาลบรอยเปื้อนก่อน และไม่ควรใช้น้ำยาที่ทำให้สีผ้าเปลี่ยน สำหรับ สารธรรมชาติที่ได้ผลดีในการลบรอยเปื้อนบนผ้าไหม  คือ น้ำส้มสายชู หรือน้ำมะนาว โดยผสมน้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชู 1 ส่วนกับน้ำสะอาด 1 ส่วน  ใช้เช็ดรอยเปื้อนเบาๆ  หลังจากเช็ดรอยเปื้อนแล้วให้ล้างน้ำให้สะอาดและนำไปผึ่งให้แห้ง
        1.4 เกร็ดความรู้ เพื่อรักษาความเงางามและสีสันที่สดใสของผ้าไหม  
               หลังจากซักทำความสะอาดผ้าไหมแล้ว  ให้แช่ผ้าไหมนาน 1-2 นาที ให้จมทั่วทั้งผืนในน้ำผสมน้ำส้มสายชูกลั่น โดยผสมน้ำส้มสายชูประมาณ 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำสะอาด 1-2 ลิตร   หลังจากนั้นให้ล้างด้วยน้ำให้สะอาดและบีบเบาๆ ไล่น้ำออก จึงนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเท บางคนที่ชอบกลิ่นหอมและต้องการให้เนื้อผ้านุ่ม มีน้ำหนัก อาจแช่ผ้าไหมในน้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำ ยาปรับสภาพผ้าไหม หรือ น้ำมันทาผิวสำหรับเด็กอย่างใดอย่างหนึ่งในน้ำสุดท้ายก่อนนำไปผึ่งให้แห้ง
        1.5 การซักผ้าไหมด้วยเครื่องซักผ้า 
               ให้จัดรูปทรงของเสื้อผ้า หรือผ้าที่จะซักให้เรียบร้อย โดย กลับด้านในออกแล้วพับใส่ในถุงซักผ้า ไม่ควรให้มีรอยยับมากเกินไป จากนั้นนำไปซักด้วยเครื่องซักผ้าที่ความเร็วรอบต่ำ ใช้เวลาในการซักน้อย และไม่ซักด้วยน้ำร้อน  สำหรับน้ำยาซักผ้า ให้ใช้สบู่เด็กชนิดเหลว หรือแชมพู เช่นเดียวกับซักมือ
    * สำหรับผ้าพันคอ หรือ ผ้าคลุมไหล่ซึ่งมีการทอเส้นด้ายไหมไม่แน่น ควรซักด้วยมือเท่านั้น

2. การทำให้แห้ง      

    ให้ผึ่งผ้าไหมที่ซักแล้วในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทดี หรือ ใช้วิธีอบผ้าให้แห้งที่อุณหภูมิต่ำ  ไม่ควรผึ่งผ้ากลางแดด เพราะแสงแดดมีความร้อนและรังสียูวี จะทำลายผ้าไหมและทำให้สีซีดเร็ว การผึ่งผ้า ควรให้ผ้าอยู่ในลักษณะแบนราบ  ต้องไม่พาดผ้าบนรั้วแหลม จะทำให้เส้นไหมถูกแรงดึงไม่สม่ำเสมอและเกิดรอยตำหนิบนผ้าชนิดที่แก้ไขไม่ได้  ควรพาดผ้าบนราวกลม หรือใช้ไม้แขวน หรือพาดผ้าในแนวราบ ให้ผ้าทิ้งตัวเรียบเสมอกัน จึงจะรีดได้ง่ายและผ้าไม่เสียรูป สำหรับเสื้อผ้าไหมที่มีการตกแต่งด้วยเครื่องประดับ ให้ซักได้ตามปกติ  หลังการซักให้ใช้ผ้าขนหนูซับน้ำออกจนกระทั่งผ้าไหมหมาด  จึงนำไปผึ่งแห้ง

3. การรีดผ้าไหม

    ให้รีดขณะผ้าไหมยังเปียกหมาดๆ   ผ้าที่แห้งเกินไป ใยไหมจะหดตัวมากจึงรีดให้เรียบได้ยาก  ในการรีดจึงควรพรมน้ำแล้วม้วนผ้าไว้ให้ความเปียกชื้นแทรกเข้าเนื้อผ้าทั่วกันก่อน จึงนำมารีด
ขณะรีดผ้าไหม ใช้ความร้อนระดับปานกลางถึงร้อนสำหรับผ้าไหมชนิดบางหรือผ้าไหม 1 เส้น    ส่วนผ้าไหมที่หนาปานกลาง หรือ ผ้าไหม 2-4 เส้น ให้ใช้ความร้อนระดับร้อนมากหรือไฟแรงและให้รีดที่ด้านในของเสื้อผ้าไหมก่อน  ส่วนการรีดด้านนอก ให้ใช้ผ้าฝ้ายสีขาวปิดทับบนผ้าไหมและรีดบนผ้าฝ้ายแทน เป็นการป้องกันแผ่นความร้อนของเตารีดสัมผัสกับเนื้อผ้าไหมโดยตรง  ซึ่งจะทำให้ ผิวผ้ามันด้าน ขึ้นเงาสะท้อนและสีเปลี่ยนได้ 
น้ำยารีดผ้าเรียบ ช่วยให้รีดผ้าไหมได้ง่ายขึ้น  โดย ผสมน้ำยารีดผ้าเรียบกับน้ำ ในอัตรา 1 ส่วนกับน้ำ 3 หรือ 4ส่วน แล้วกดแช่ผ้าไหมทั้งผืนในน้ำยาผสมให้เปียกทั่วกัน  จากนั้นนำขึ้นผึ่งทันทีโดยไม่ต้องบิด เมื่อผ้าเริ่มแห้งหมาด จึงนำมารีด  หรือ ใช้วิธี พรมน้ำยาผสมน้ำให้ผ้าเปียกทั่วกันแล้วจึงนำมารีด อีกวิธีของเทคนิครีดผ้าไหมให้เรียบ  คือ รีดผ้าไหมลักษณะวนเป็นวงทางเดียว และขยายวงออกไปเรื่อยๆ หรือ รีดไปทางเดียวจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง จะทำให้รีดผ้าไหมได้เรียบ และไม่เกิดรอยย่นในเนื้อผ้า

4. การเก็บผ้าให้เรียบและป้องกันการถูกทำลาย
 
    เมื่อรีดผ้าหรือชุดผ้าไหม รวมทั้งชุดที่ตัดด้วยผ้าอื่นๆ  แล้วนำไปเก็บในตู้   พบว่าบ่อยครั้งที่มีรอยยับเกิดขึ้นใหม่ได้อีก  ซึ่งมักเกิดจากในตู้มีเสื้อผ้าเก็บอยู่มาก จึงเบียดกันแน่นเกินไป   ผู้รู้หลายคนแนะนำให้ใช้ถุงคลุมเสื้อผ้าก่อนเก็บ จะช่วยลดรอยยับที่เกิดจากการเบียดกันได้  การเก็บผ้าในถุงคลุมเสื้อ หรือถุงพลาสติก ไม่ควรปิดมิดชิดเกินไป การเปิดช่องเล็กน้อยทำให้อากาศถ่ายเทและระบายความชื้นที่เกิดขึ้นได้ ลดปัญหาการสะสมของราและแมลงที่อาจเกิดขึ้นได้ 
การแขวนเสื้อผ้า หรือ พับผ้า ไว้เป็นเวลานาน ทำให้เกิดรอยตามบ่าเสื้อ  รอยพับ หรือรอยหักงอเนื่องจากการแขวน  ลดปัญหานี้ได้ โดยการพับผ้าหลวมๆ ให้บริเวณรอยพับงอเป็นมุมป้านและวางสลับซ้อนบนผ้าชิ้นอื่น หรือม้วนผ้าหลวมๆ ตามหน้าผ้า รอบแกนกระดาษกลม  ส่วนเสื้อให้แขวนทับซ้อนบนผ้าชิ้นอื่นหรือแขวนบนไม้แขวนที่มีบ่าใหญ่ หรือใช้ไม้แขวน 2 อันแทน ผ้า หรือ เสื้อผ้าไหมที่เก็บไว้ไม่ค่อยนำมาใช้ อาจมีแมลงทำลายผ้าได้   วิธีป้องกันง่ายๆ แบบพื้นบ้านไทยที่ป้องกันได้ผลดี คือ บุบเมล็ดพริกไทยให้แตกเล็กน้อย จากนั้นนำไปใส่ในถุงผ้าและแขวนไว้ตามมุมในตู้ หรือกล่องเก็บเสื้อผ้า  การบูรก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน ให้ใส่ในถุงผ้าหรือถุงกระดาษ แล้วแขวนไว้บริเวณส่วนบนของตู้และระวังไม่ให้สัมผัสกับเสื้อผ้า ไอและกลิ่นที่ระเหิดออกมา จะช่วยไล่แมลงทำลายผ้าได้  เล็กๆ น้อยๆ ในการดูแลรักษา และทำความสะอาดผ้าไหมชุดผ้าไหม ทำได้ไม่ยากอย่างที่บางคนคิดเพียงรู้จักและเข้าใจธรรมชาติของเส้นไหม ผ้าไหม ก็สามารถดูแลและซักรีดได้เองด้วยวิธีง่ายๆ  ที่บ้านของ  เราเอง

ที่มา : ชวนพิศ สีมาขจร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ  กรมหม่อนไหม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น